ความรู้เรื่องเพศศึกษา การหลั่งนอกจะทำให้ตั้งครรภ์ได้หรือไม่
ความรู้เรื่องเพศศึกษา การหลั่งนอกจะทำให้ตั้งครรภ์ได้หรือไม่ หลายๆ คนเข้าใจมาตลอดว่าการมีเพศสัมพันธ์แล้วหลั่งภายนอกจะทำให้ปลอดภัยไม่ตั้งครรภ์ ลองเข้ามาศึกษารายละเอียดอีกนิ๊ด เพราะโอกาสเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ก็มีอยู่นะ
Credit by http://frynn.com
หลั่งนอก
หลั่งน้ำอสุจิภายนอกช่องคลอด หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่า “หลั่งข้างนอก” หรือ “หลั่งภายนอก” (Coitus interruptus, Rejected sexual intercourse, Withdrawal, Pull-out method) เป็นวิธีที่ช่วยลดโอกาสการตั้งครรภ์อย่างหนึ่งที่เมื่อร่วมเพศไปในระยะแรกจะเป็นไปอย่างปกติ (ฝ่ายชายจะไม่ได้สวมถุงยางอนามัย) จนกระทั่งฝ่ายชายรู้สึกใกล้จะหลั่งน้ำอสุจิ ฝ่ายชายจะถอนอวัยวะเพศออกจากช่องคลอดก่อนที่จะถึงจุดสุดยอด และหลั่งน้ำอสุจิออกมาภายนอกช่องคลอดของฝ่ายหญิงแทนโดยไม่ให้น้ำอสุจิเปื้อนบริเวณปากช่องคลอด เพราะอาจจะทำให้เชื้ออสุจิเข้าไปในช่องคลอดได้ โดยคิดไปเองว่าจะไม่ทำให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงได้และไม่เกิดการตั้งครรภ์ ซึ่งนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดครับ !! เพราะในระหว่างที่เรากำลังมีเพศสัมพันธ์ อาจจะมีเชื้ออสุจิออกมากับน้ำเมือกบ้างแล้วบางส่วน หรือเมื่อใกล้ถึงจุดสุดยอดแล้วแต่ฝ่ายชายถอนอวัยวะเพศไม่ทัน จนหลั่งน้ำอสุจิเข้าไปภายในช่องคลอดหรือบริเวณปากช่องคลอด เหล่านี้เชื้ออสุจิก็สามารถผ่านเข้าไปในช่องคลอดได้แล้วครับ จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์สูง
สำหรับสาเหตุที่วิธีการหลั่งนอก (แตกนอก) เป็นที่นิยมกันมากโดยเฉพาะในกลุ่มวันรุ่น ก็คงมาจากความง่าย ความสะดวกสบาย ไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ป้องกันใด ๆ แถมยังให้ความรู้สึกถึงอารมณ์แบบเนื้อแนบเนื้ออีกต่างหาก อีกทั้งวัยรุ่นส่วนใหญ่ก็อายที่จะไปซื้อถุงยางอนามัยในร้านสะดวกซื้อมาใช้ หรือบางครั้งก็ฉุกเฉินเกินกว่าจะเตรียมอุปกรณ์ป้องกันได้ทันที ส่วนอีกสาเหตุสำคัญก็คงมาจากความมั่นอกมั่นใจของฝ่ายชายนี่แหละที่บางคนคิดเอาแต่ได้ โดยไม่คิดถึงผลที่จะตามมา หรือมาจากความมั่นใจแบบผิด ๆ ว่าปล่อยนอกยังไงก็ไม่ท้องอย่างแน่นอน คราวนี้เรามาดูข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหลั่งนอกกันเลยดีกว่า จะได้หายสงสัยสักทีว่าทำไมหลั่งนอกแล้วแต่ก็ยังท้องได้อยู่ !!
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหลั่งนอก
- การหลั่งนอกเป็นวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์ที่มีประสิทธิภาพน้อยมาก มีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้สูง
- ในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ ในน้ำหล่อลื่นของฝ่ายชายนั้นจะมีเชื้ออสุจิปะปนออกมาด้วยอยู่แล้ว แต่ไม่เยอะเท่าตอนถึงจุดสุดยอดเท่านั้นเอง !! เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นไปได้สูงที่ตัวอสุจิเหล่านี้จะเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ในระหว่างการทำกิจกรรม
- ในกรณีที่หลั่งไม่ไกลจากช่องคลอดมากพอ เชื้ออสุจิก็ยังสามารถแหวกว่ายเข้าไปในช่องคลอดของฝ่ายหญิงและทำการปฏิสนธิได้อยู่ดี เนื่องจากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต่างก็มีน้ำหล่อลื่นที่เป็นตัวช่วยทำให้อสุจิสามารถเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
- การมีเพศสัมพันธ์ต่อครั้งที่ 2, 3, 4 ฯลฯ ในทันทีจะยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากขึ้นไปอีก แม้จะล้างทำความสะอาดมาอย่างดีแล้วก็ตาม เพราะปลายอวัยวะเพศชายยังอาจมีเชื้ออสุจิหลงเหลืออยู่ แต่ที่แน่ ๆ คือในท่อปัสสาวะจะยังมีน้ำเชื้อค้างอยู่จากรอบที่แล้วอย่างแน่นอน ซึ่งมันอาจจะออกมาปิ๊ดหนึ่งในระหว่างร่วมเพศก่อนที่คุณจะหลั่งในรอบถัดไปก็ได้ ในกรณีที่ทำได้ก็คือการปัสสาวะทิ้งก่อนจะมีเพศสัมพันธ์รอบถัดไป ซึ่งจะถือเป็นการล้างท่อไปด้วยในตัว และทำความสะอาดที่ปลายองคชาติเพื่อล้างอสุจิที่ตกค้างออกให้เรียบร้อยก่อนที่ปฏิบัติภารกิจในรอบถัดไป
ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของการหลั่งนอก
ข้อมูลจาก Contraceptive technology (20th revised ed.) ระบุว่าตามหลักแล้วการหลั่งภายนอกช่องคลอดอย่างถูกต้อง (Perfect use) ตามหลักทฤษฎีเป๊ะ ๆ จะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4% ซึ่งหมายความว่าจำนวนการตั้งครรภ์ในแรกของการคุมกำเนิดด้วยการหลั่งนอกจำนวน 100 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4 คน แต่โดยทั่วไปหรือในโลกความเป็นจริงแล้ว มันก็ต้องมีเป๊ะบ้าง ไม่เป๊ะบ้างเป็นธรรมดา ทำให้การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ (Typical use) มีอัตราการล้มเหลวทำเกิดการให้ตั้งครรภ์ได้สูงมากขึ้นเป็น 22% หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 คน จากผู้ที่คุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ส่วนด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างการคุมกำเนิดด้วยวิธีการหลั่งนอกกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ
วิธีคุมกำเนิด | การใช้แบบทั่วไป | การใช้อย่างถูกต้อง | ระดับความเสี่ยง |
---|---|---|---|
ยาฝังคุมกำเนิด | 0.05 (1 ใน 2,000 คน) | 0.05 | ต่ำมาก |
ทำหมันชาย | 0.15 (1 ใน 666 คน) | 0.1 | ต่ำมาก |
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน | 0.2 (1 ใน 500 คน) | 0.2 | ต่ำมาก |
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม) | 0.2 (1 ใน 500 คน) | 0.2 | ต่ำมาก |
ทำหมันหญิง (แบบทั่วไป) | 0.5 (1 ใน 200 คน) | 0.5 | ต่ำมาก |
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง | 0.8 (1 ใน 125 คน) | 0.6 | ต่ำมาก |
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว) | 6 (1 ใน 17 คน) | 0.2 | ปานกลาง |
แผ่นแปะคุมกำเนิด | 9 (1 ใน 11 คน) | 0.3 | ปานกลาง |
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing) | 9 (1 ใน 11 คน) | 0.3 | ปานกลาง |
ยาเม็ดคุมกำเนิด | 9 (1 ใน 11 คน) | 0.3 | ปานกลาง |
ถุงยางอนามัยชาย | 18 (1 ใน 5 คน) | 2 | สูง |
การหลั่งนอก | 22 (1 ใน 4 คน) | 4 | สูงมาก |
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน) | 85 (6 ใน 7 คน) | 85 | สูงมาก |
หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน โดยกำหนดให้ สีฟ้า = ความเสี่ยงต่ำมาก / สีเขียว = ความเสี่ยงต่ำ / สีเหลือง = ความเสี่ยงปานกลาง / สีส้ม = ความเสี่ยงสูง /สีแดง = ความเสี่ยงสูงมาก (ข้อมูลจาก : www.contraceptivetechnology.org, Comparison of birth control methods – Wikipedia)
ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ๆ ตามภาษาชาวบ้านก็ตามด้านล่างนี้เลยครับ
- หลั่งนอกอย่างถูกวิธี (ไกลจากช่องคลอดมากพอ) > เสี่ยง
- หลั่งนอกแบบผิดวิธี (ไม่ไกลช่องคลอดมากพอ) > เสี่ยงมาก
- หลั่งนอกและล้างอวัยวะเพศสะอาดแล้ว + มีเพศสัมพันธ์ต่อทันที > โครตเสี่ยง หาคู่มือการเลี้ยงลูกมาอ่านรอได้เลยครับ !!
- หลั่งนอกและล้างอวัยวะเพศไม่สะอาดดีพอ + มีเพศสัมพันธ์ต่อทันที > เตรียมเลี้ยงลูกได้เลยครับ
ข้อดีของการหลั่งนอก
- เป็นวิธีที่ใช้ได้เสมอ ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ อาศัยแต่เพียงความอดทนและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้น โดยสามีจะต้องไม่หลั่งน้ำอสุจิเร็ว ยิ่งถ้าควบคุมการหลั่งน้ำอสุจิได้ด้วยแล้ว โดยรอให้ฝ่ายภรรยาถึงจุดสุดยอดเสียก่อนก็จะได้ผลดีต่อทั้งคู่
- เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก ประหยัด ไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องอาศัยเครื่องมือแพทย์ใด ๆ
- ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับฮอร์โมน จึงไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด และแผ่นแปะคุมกำเนิด
- ไม่มีผลต่อประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ เมื่อหยุดใช้ภาวะการเจริญพันธ์จะกลับมาทันที
ข้อเสียของการหลั่งนอก
- วิธีนี้เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงในตั้งครรภ์สูง สามีบางคนอาจสงสัยว่าทำไมภรรยาถึงตั้งครรภ์ได้ทั้ง ๆ ที่หลั่งนอกทุกครั้ง ก็อย่างที่บอกนั้นแหละครับว่ามันมีโอกาสผิดพลาดได้ง่ายมาก !!
- ทำให้คู่สมรสมีความสุขจากการร่วมเพศได้ไม่เต็มที่ (โดยเฉพาะฝ่ายสามี) ส่วนฝ่ายหญิงก็มีโอกาสถึงจุดสุดยอดน้อยลง เพราะฝ่ายสามีต้องฝืนใจเอาอวัยวะเพศออกขณะที่จะถึงจุดสุดยอดทั้งที่ไม่อยากทำ
- ในบางกรณี (โดยเฉพาะวัยรุ่นมือใหม่) มักเกิดอาการตื่นเต้นจนทำให้หลั่งเร็วหรือไม่สามารถควบคุมการหลั่งได้ ความเสี่ยงก็จะสูงมากขึ้น
- ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ โดยเฉพาะ เอดส์ เริม หนองใน ซิฟิลิส ฯลฯ
0 ความคิดเห็น: